ประโยชน์ของสายดินที่ควรรู้

ประโยชน์ของสายดิน

สายดินเป็นอุปกรณ์ไฟฟ้าที่รู้จักกันมาในเวลานาน และยังเป็นมาตรฐานที่ทางการไฟฟ้าระบุเป็นข้อบังคับในการขอยื่นไฟฟ้ารายใหม่ วันนี้เรามาทำความรู้จักกับสายดินกันว่า สายดินคืออะไร และมีไว้ทำอะไร

สายดินคืออะไร ?

สายดิน หรือ Earthing System เป็นสายไฟหรือตัวนำที่ต่อจากอุปกรณ์ไฟฟ้า เป็นเส้นทางสำหรับกระแสไฟฟ้าที่เกิดการรั่วไหล หรือ ไฟรั่ว ไหลกลับไปยังระบบตัดไฟ เพื่อให้ระบบตัดไฟอัตโนมัติทำงาน หรือไหลลงสู่ดิน เพื่อป้องกันอุบัติเหตุที่สามารถเกิดขึ้นได้จากการโดนไฟฟ้าช็อต หรือไฟฟ้าลัดวงจร

สายดินประกอบไปด้วยอะไรบ้าง

  1. หลักดิน เป็นแท่งโลหะที่มีความสามารถในการนำไฟฟ้าได้ ทำการติดตั้งโดยฝังลงไปในดิน และเชื่อมกับตัวนำไฟฟ้า เพื่อใช้ระบายกระแสไฟฟ้าที่รั่วไหล โดยทั่วไปจะทำจากทองแดง หรือเหล็กที่หุ้มทองแดง ซึ่งตามมาตรฐานจะมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 16mm. มีความยาวประมาณ 2.4 เมตร และมีความต้านทานไม่เกิน 5 โอห์ม
  2. ตัวนำไฟฟ้า หรือสายนำไฟฟ้า โดยสายชนิดนี้จะมีลักษณะใกล้เคียงกับสายไฟฟ้าทั่วไป ด้านในจะเป็นสายทองแดงและหุ้มด้วยฉนวนกันไฟฟ้า ซึ่งโดยทั่วไปแล้วสายดินจะใช้สายที่มีสีเขียวหรือสีเขียวสลับกับสีเหลือง

ประโยชน์ของสายดิน

  1. ช่วยป้องกันการเกิดไฟดูดสู่คน เมื่อมีการรั่วไหลของกระแสไฟฟ้า
  2. ช่วยป้องกันไฟฟ้าลัดวงจร เมื่อมีไฟฟ้ารั่วไหล สายดินจะทำให้เครื่องตัดกระแสไฟทำงาน
  3. ทำให้เครื่องใช้ไฟฟ้าไม่เสื่อมอายุการใช้งานเร็วเกินไป เมื่อมีกระแสไฟฟ้าไหลหรือไฟฟ้ากระชาก

เครื่องใช้ไฟฟ้าใดบ้างที่ต้องติดตั้งสายดิน

  1. เครื่องใช้ไฟฟ้าประเภทที่ 1 : หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าที่จำเป็นต้องมีสายดิน ซึ่งเครื่องใช้ไฟฟ้าประเภทนี้จะมีวัสดุหรือโครงสร้างที่เป็นโลหะและผู้ใช้งานจำเป็นจะต้องจับต้องกับอุปกรณ์ในขณะใช้งาน อาทิเช่น ตู้เย็น ไมโครเวฟ เป็นต้น
  2. เครื่องใช้ไฟฟ้าประเภทที่ 2 : หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ไม่จำเป็นต้องมีสายดิน ซึ่งเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ผู้ใช้งานอาจจะไม่ต้องจับต้องกับอุปกรณ์ในการใช้งานตลอด เช่น พัดลม วิทยุ โทรทัศน์
  3. เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ใช้แรงดันไม่ถึง 50V โดยต่อจากหม้อแปลงชนิดพิเศษที่ออกแบบไว้เพื่อความปลอดภัย เช่น โทรศัพท์ เครื่องโกนหนวด เครื่องใช้ไฟฟ้าชนิดนี้ไม่จำเป็นต้องมีสายดิน

ข้อแนะนำเพิ่มเติม

  1. การติดตั้งสายดินภายใน 1 อาคารไม่ควรมีจุดต่อลงดินมากกว่า 1 จุด
  2. จุดที่ใช้ต่อลงดินของระบบไฟฟ้า ต้องอยู่ด้านไฟเข้าของเครื่องตัดวงจรตัวแรก หรือเมนสวิตช์
  3. สายดิน และสายเส้นศูนย์สามารถต่อรวมกันได้ที่จุดเดียวนั่นคือจุดต่อลงดินภายในตู้เมนสวิตช์ ห้ามต่อรวมๆกันในจุดอื่นๆ เช่น สวิตช์ย่อย
  4. ต่อเมนสวิตช์ของห้องชุด และอาคารชุด หรือสวิตช์ประจำชั้นจะไม่ถือว่าเป็นเมนสวิตช์ ห้ามต่อสายศูนย์และสายดิน
  5. ไม่ควรต่อโครงโลหะของเครื่องใช้ไฟฟ้าลงดินโดยตรง
  6. ไม่ควรใช้เชอร์กิตเบรกเกอร์ชนิด 120/240V กับระบบไฟ 220V เพราะพิกัด IC จะลดลงประมาณครึ่งหนึ่ง
  7. ติดตั้งเครื่องตัดไฟรั่ว จะช่วยทำให้การป้องกันอุบัติเหตุของระบบไฟฟ้าได้ดีขึ้น
  8. วงจรสายดินที่ถูกต้องในเวลาปกติจะต้องไม่มีกระแสไฟฟ้าไหล
  9. ถ้าหากเดินสายไฟในท่อที่มีวัสดุเป็นโลหะ จะต้องทำการเดินสายดินเข้าไปในท่อนั้นด้วย
  10. ชนิดและขนาดของอุปกรณ์ในการติดตั้งสายดิน จะต้องมีมาตรฐานตามข้อบังคับของการไฟฟ้านครหลวง